วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พื้นบ้าน กับแรงดันน้ำ ภาคต่อ (วิเคราะห์โครงสร้าง ละเอียดขึ้น)



(แบบ S-0, S-1, S-2, S-3 คัดลอกมาจาก แบบบ้าน โครงการแบบอาคารเพื่อประชาชน กรมโยธาธิการและผังเมือง)   แบบที่เห็นเป็นแบบพื้นบ้าน ทั้งแบบทางเดียว และสองทาง (one-way & two-way slab) ซึ่งบ้านพักอาศัย ทั่วๆ ไป จะเสริมเหล็ก เหมือนหรือคล้าย ๆ กันกับแบบนี้นะครับ
          สำหรับบทความนี้ จะเป็นการวิเคราะห์ โครงสร้าง ของแผ่นพื้นก่อน และจึงสรุปรวมเมื่อรับแรงลอยตัว จากกรณีน้ำท่วม ตามระดับความสูงต่าง ๆ ที่ใช้กับ S-1, S-2, S-3 

โดยมีสมมติฐาน
 1.เหล็กเสริมมีกำลังเท่ากับ 4000 ksc (เป็นค่าจากความเห็นของผู้เขียน โดยมีที่มาจากเหล็กเสริมซึ่งมาทดสอบกับทางภาควิชาฯ) และ
 2.คอนกรีต มีกำลังเท่ากับ 210 ksc โดยจะไม่ใช้การลดกำลังเลย(ไม่คิดการล้า คิดว่าคงเกิดการรับแรงนี้ไม่นาน) 
จาก สมมติฐานข้อ 1 และ 2 ได้  n = 9, j = 0.893 R = 30.089 ksc เมื่อคอนกรีตรับแรงอัด รับแรงในทิศทางปกติ พื้นนี้รับแรงดัดได้ถึง 1690 กก.-ม. (กรณีมีเหล็กเสริมตามรูปด้านบน และเหล็กเสริมจะรับแรงดึง)
      แต่ถ้าเกิดน้ำท่วม แรงดันน้ำดันขึ้นจากใต้พื้น พุ่งสู่ด้านบน ในส่วนของเนื้อคอนกรีตจะ เปลี่ยนเป็นรับแรงดึง และเหล็กเสริมจะรับแรงอัด ซึ่งตรงกันข้ามกับกรณีปกติ ทำให้พฤติกรรมเปลี่ยน ดังแสดงในรูปด้านล่าง
รูป จากหนังสือ "รายละเอียดเหล็กเสริมงานคอนกรีต" โดย ประสงค์ ธาราไชย และคณะ


 
 - ลองให้คอนกรีตสามารถรับแรงดึงได้ 10% (ปกติค่าไม่ค่อยจะแน่นอนอาจมีค่าตั้งแต่ 5-12% ของกำลังอัด) คือ ประมาณ 21 ksc ใช้วิธีหน้าตัดแปลง(ปรากฏว่าเหล็กเสริมน้อยจนไม่มีนัยสำคัญ) จาก stress=Mc/I จะทำให้พื้นหนา 10 cm. รับโมเมนต์ดัดได้ 350 กก.-ม. (น้อยมากๆ เทียบกับการรับแรงปกติ 1690 กก.-ม.)  รับแรงเฉือนทะลุได้ 7.68 ksc (กก ต่อ ตร.ซม.)
จากค่าโมเมนต์ดัด 350 กก.-ม และแรงเฉือนทะลุ 7.68 ksc เราลองมาดู พื้นบ้านขนาด 3x3 เมตร เป็นตัวอย่างนะครับ
กรณี น้ำสูง 1 ฟุต (30 cm) ความลึกของน้ำเท่ากับ30+10 cm แรงดันน้ำจะเท่ากับ 400 กก ต่อ ตร.ม. แรงกระทำต่อพื้นบ้าน (โล่ง ๆ ไม่มีของ) เท่ากับ 400-240 =160 กก ต่อ ตร.ม.จะเกิด
 -โมเมนต์ดัด เท่ากับ cws^2 =0.05 x 160 x 3^2 = 72  กก.-ม น้อยกว่า 350  ไม่พังครับ
 -แรงเฉือนทะลุ เท่ากับ  =160 x 3^2 = 1440 กก. แต่พื้นรับได้มากๆ เทียบกันไม่ได้   ไม่พัง
สรุปไม่พัง

กรณี น้ำสูง ครึ่งเมตร   (50 cm)
แรงกระทำต่อพื้นบ้าน (โล่ง ๆ ไม่มีของ) เท่ากับ 600-240 =360 กก ต่อ ตร.ม.จะเกิด
 -โมเมนต์ดัด เท่ากับ cws^2 =0.05 x 360 x 3^2 = 162  กก.-ม น้อยกว่า 350  ไม่พังครับ ถ้าเป็นไปตามสมมุติฐานว่าคอนกรีตมีกำลังดี แต่หาก เป็นการก่อสร้างซึ่งไม่ได้ใช้คอนกรีตที่ดี อาจทำให้การรับแรงดึงของคอนกรีตได้ประมาณ 10 ksc ก็เป็นได้  หากเป็นเช่นนั้น พื้นบ้านก็จะเริ่มแตกแล้วครับ ดังนั้นในกรณี นี้ ถ้าต้องการสู้กับแรงดันน้ำต่อ แนะนำให้ใส่น้ำหนักที่แนะนำในบทความก่อนหน้า

กรณี น้ำสูง 1 เมตร   (100 cm)
แรงกระทำต่อพื้นบ้าน (โล่ง ๆ ไม่มีของ) เท่ากับ 1100-240 =860 กก ต่อ ตร.ม.จะเกิด
 -โมเมนต์ดัด เท่ากับ cws^2 =0.05 x 860 x 3^2 = 387  กก.-ม มากกว่า 350  พังครับ ถ้าต้องการสู้กับแรงดันน้ำต่อ แนะนำให้สำหรับผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ทั้งใส่น้ำหนักที่แนะนำในบทความก่อนหน้า ทั้งดูน้ำรั่วจากจุดที่เป็นไปได้ ปลั้ก กำแพง ฯลฯ



          หากใครมีพื้นแบบ S-0 (slab on ground) สบายใจได้ครับพื้นของท่านไม่ได้อยู่ติดกับโครงสร้างเสา คาน สู้ ไปเลยครับเต็มที่ แต่น้ำจะรั่ว ตามรอยต่อระหว่างพื้นกับผนังครับ ส่วนใหญ่พื้นแบบนี้จะเป็นพื้นของโรงรถ หรือชั้นล่างของตึกแถว (ไม่แน่เสมอไปนะครับ) สังเกตได้จาก พื้นแบบ วางบนพื้น จะมีการทรุดตัว แตก แต่ส่วนอื่นๆ ไม่ได้ทรุดตามนะครับ


สำหรับผู้อ่าน ที่ต้องการแลกเปลี่ยน หรือแนะนำผมยินดีนะครับ

วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2554

แรงดันน้ำ ใต้ดิน กรณีปกติ กรณีน้ำท่วม

            บทความนี้เขียนเพื่ออธิบายหลักการของแรงดันน้ำ ในกรณีที่เพื่อนๆ ของผมได้คุยกันในช่วงน้ำท่วม ผมจะกล่าวถึงทฤษฏีปกติที่วิศวกรรมโยธาต้องเรียนเพื่อให้เข้าใจเรื่องแรง และพฤติกรรมของแรงดันน้ำในกรณีต่าง ๆ ที่เพื่อน ๆ ประยุกต์ใช้กันครับ
            1.    กรณีที่บ้านของเรามีน้ำท่วมอยู่โดยรอบ แต่น้ำไม่ได้เข้าไปในตัวบ้าน ทำให้ทุกช่องที่น้ำจะดันเข้ามาได้ ก็จะซึม หรือพุ่งออกมา เช่น ท่อระบายน้ำในห้องน้ำ
            -     มีเพื่อนคนหนึ่งถามถึง การที่เราจะนำท่อ pvc หรือ ท่ออื่นๆ ไปสวมที่ท่อระบายน้ำ   น้ำจะสูงขึ้นมาในท่อ จนเท่ากับระดับน้ำรอบๆบ้าน   ด้วยวิธีนี้จะสามารถ ทำให้น้ำไม่สามารถไหลเข้าบ้านได้ แต่.......  วิธีนี้ไม่สามารถลดแรงดันน้ำได้นะครับ  แรงดันน้ำที่อยู่ใต้พื้นบ้านของเรา ยังคงเท่าเดิม
            -     แล้วแรงดันใต้พื้นบ้านมันเท่าไหร่หล่ะ?     ตอบ   มันก็เท่ากับ  ความสูงของน้ำ x ความหนาแน่นของน้ำ = แรงลอยตัว (สมมติ ปกติพื้นบ้านหนา 10 ซม. น้ำด้านนอกสูงกว่าพื้นบ้าน 30 ซม.  รวมเป็นความสูงน้ำ 40 ซม.  ก็จะมีแรงลอยตัวเท่ากับ 400 กก ต่อ ตารางเมตร)  
            -     อ้าว  แล้วพื้นบ้านจะพังไหม? ถ้าสมมติว่าพื้นแข็งแรงปกติ ไม่มีจุดรั่วของน้ำ  พื้นบ้านคนปกติ หนาประมาณ 10 ซม.  จะหนักประมาณ 240 กก ต่อ ตารางเมตร ดังนั้น จะมีน้ำหนัก ดันพื้นในทิศขึ้นฟ้า อยู่อีก 400-240 = 160 กก ต่อ ตารางเมตร ด้วยแรงระดับนี้ ก็น่าเป็นห่วงพื้นบ้านอยู่เหมือนกัน ถ้าพื้นบ้านเสริมเหล็กบน เหมือนๆ เท่าๆ กับเหล็กล่าง ก็น่าจะไม่มีปัญหา เนื่องจากโมเมนต์ลบกลับด้าน ถ้าเท่าๆ กับการใช้งานปกติ น่าจะทำให้รับได้ประมาณ 240+150=390 กก ต่อ ตารางเมตร    ถ้าตามสมมติฐานนี้ บ้านเพื่อน ๆจะ รับน้ำในระดับความสูงจากพื้นบ้านได้ประมาณ 53 ซม เท่านั้นนะครับ
            -     แล้วถ้าน้ำด้านนอกสูงเกิน 50 ซม จะทำไง?   เนื่องจากเรากันน้ำไว้ได้อยู่  แต่พื้นจะเริ่มมีปัญหาแล้ว แนะนำให้เอาของต่างๆ ที่มีน้ำหนัก มาวางไว้กลางพื้นบ้าน โดยให้คิดว่า น้ำที่สูงขึ้นมาทุก ๆ 10 ซม. ที่เลยจาก 50 ซม.แรกแล้ว  จะทำให้มีแรงดันเพิ่ม 100 กก.ต่อ ตร.ม.  เพื่อน ๆก็ดูพื้นที่ในบ้าน แล้วคูณด้วย 100 กก. ทุก 10 ซม. จาก 50 ซม.แรก ที่ยังไม่ต้องใส่น้ำหนัก
            -     จริง ก่อนที่น้ำจะสูง ย้ายปลั้ก ย้ายของก่อนนะครับแล้วอยากสู้ก็ตามนี้     แต่ถ้าน้ำสูงเลย    50 ซม.จากพื้นบ้านด้านนอกแล้ว และไม่มีน้ำหนักจะวางที่พื้นบ้านแล้ว  ให้เลิกทำได้เลยครับปล่อยให้น้ำเข้ามาเถอะ ไม่คุ้มแล้วครับ   (เดี๋ยวพื้นแตกจากแรงลอยตัว หรือมีน้ำพุขึ้นกลางบ้าน ต้องมาซ่อมกันทีหลังน้ำลดอีก)
            -       แต่ถ้าใคร อยากสู้ต่อ  ก็มีวิธีลดแรงดันน้ำ โดยใช้เขื่อน(อาจเป็นรั้วบ้าน) และเครื่องสูบน้ำ แล้วทำตามรูปเลย (ผมคัดลอกรูปจาก http://www.sanfrancisquito.org/watershed/threats/flows/index.htm ขี้เกียจจะวาดครับ  เอารูปของคนอื่นไปดูแทนครับ)  หลักการคือ  กั้นเขื่อนรอบๆ บ้าน แล้ว  ทำคลองรอบๆ เขื่อน หรือ บ่อน้ำ รอบๆ บ้าน แล้วสูบน้ำออก    ทำแบบนี้  แรงดันน้ำจะลดลงครับ  เคยทำที่บ้านตัวเองแล้ว แต่ไม่อยากจ่ายค่าไฟ ก็เลยเลิก หลักการนี้เหมือนสนามบินสุวรรณภูมิมั้ยล่ะครับ  มีคันดินรอบ ต่อมาเป็นคลองรอบ การที่แรงดันน้ำใต้ดินจะทำให้สนามบินแตกร้าว ผมจึงคิดว่าเป็นไปยากมาก ๆ ที่น้ำจะท่วมสุวรรณภูมิครับ เพราะเค้าออกแบบรับมือกับเรื่องนี้ไว้ดีแล้ว

           -        รูปต่อไป เป็นการป้องกันระดับน้ำใต้ดิน อย่างดี สำหรับผุ้มีทุนถึง (ผมคัดลอกมาจาก http://hostedweb.cfaes.ohio-state.edu/usdasdru/WRSIS/watertablemgtoptions.htm ) จริง ๆ ท่อที่เห็น ก็ใช้กับระบบร่องสวนก็ได้นะครับ  วิธีนี้ไม่ได้แนะนำให้คนปกติทำนะครับ เพราะมันเหมาะกับสถานที่สำคัญและเงินถึง (555 หมู่บ้านของผมก็ทำวิธีนี้ ขนาดเงินไม่ค่อยจะถึงชึ่นชมจริงๆ)  ด้านนอกหมู่บ้านน้ำท่วมสูงเป็นเมตร ในบ้านยังใช้ส้วมได้ กดน้ำยังลงอยู่เลย       อธิบายเรื่องในหมู่บ้าน มีระบบคลอง และระบบน้ำเสีย   หัวหน้าหมู่บ้านก็สูบน้ำจากระบบน้ำเสียออกไปนอกคันกันน้ำหมู่บ้าน (หมู่บ้านเก่งสุดยอด แต่ตัวผมออกนอกหมู่บ้านเป็นเดือนแล้ว เพราะปอดแหกกลัวเขื่อนคันดินพัง)
          -         เรื่องคันดิน กระสอบทราย   มันจะอยู่ทนหรือเปล่า จริงๆ พวกเราวิศวกรโยธาได้เรียนแล้วล่ะครับ ดินเหนียวกันน้ำได้   ทรายกันน้ำไม่ได้    ทรายใส่กระสอบกันน้ำได้ น้ำหนักดี  ดินเหนียวโดนน้ำนานๆ ก็เสียวอยู่   ส่วนกระสอบทรายถ้ากระสอบไม่ดีมันอาจจะเปื่อยและพังในที่สุด ทรายมันก็จะไหลไปตามน้ำ ถ้าจะให้แนะนำในเรื่องการทำคันดินต้องวิเคราะห์เสถียรภาพของคันดินก่อน    เอาเป็นว่าเพื่อนๆครับ slope ของคันดินต้องไม่น้อยกว่า 1:1 นะครับ แต่มีหลายคนแนะนำ 1:3 (เช่น สูง 1 ม. ฐานกว้าง 3 ม.) แล้วจะไปหาดินมาพอไหม  ถ้าหาได้ก็ทำไป  หาไม่ได้ก็ 1:1 ครับ

วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2554

rebound hammer

http://eng.swu.ac.th/research/articles/54_02/No.6.pdf





เป็นบทความที่เขียนขึ้นสำหรับ ผู้ที่เคยใช้เครื่องมือ rebound hammer แล้ว หรือผู้ที่อยากจะศึกษา