วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2563

อยู่กับแผ่นดินไหว ณ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

สวัสดีครับ ชาวแม่แจ่ม
                กระผม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่ร้อยตรี ดร.ศุภชัย สินถาวร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) สำหรับสาขาวิชาที่ทำการสอนอยู่สาขาวิชาหนึ่ง ก็คือ วิศวกรรมแผ่นดินไหว และ การจัดการภัยพิบัติ ครับ ผมเห็นว่าสอนในห้องเรียนคงจะไม่เพียงพอที่จะบรรเทาภัยแผ่นดินไหว หากมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น จึงได้จัดโครงการ การบริการวิชาการ "อยู่กับแผ่นดินไหว" และในปี 2563 นี้ก็เข้าสู่ปีที่ 3 แล้วครับ ที่ได้ทำโครงการนี้
           
                   สำหรับโครงการอยู่กับแผ่นดินไหว เป็นโครงการบริการวิชาการแก่ชุมชุนซึ่งในงบประมาณผ่าน  ส่วนกิจการเพื่อสังคม มศว โครงการนี้ มีการดำเนินโครงการในสามปีที่ผ่านมา ที่
1. มศว องครักษ์ จังหวัดนครนายก และ
2. ขยายผลไปที่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยใช้วิทยาลัยโพธิวิชชาลัยฐาน และ
3. ขยายผลไปที่ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้โรงเรียนสาธิต ชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่าเป็นฐาน
                 เนื่องด้วยในประเทศไทย ภาคเหนือและภาคตะวันตก เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดที่ จะมีผลกระทบจากแผ่นดินไหว โดยในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งในที่ตั้งของมหาวิทยาลัย ก็อยู่ในพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงที่จะเกินความเสียหาย จากแรงสั่นสะเทือนเนื่องจาก แผ่นดินไหว หรือเกิดแผ่นดินไหว ด้วยเช่นกัน แรงจากแผ่นดินไหวนี้ ยังไม่สามารถจะทำนายได้ว่าจะเกิดขึ้นได้เมื่อไร ทราบแต่เพียงว่าในพื้นที่ใดมีโอกาสที่จะเกิดได้สูง และพื้นที่ใดมีความเสี่ยงที่จะเกิดต่ำ
                 อย่างไรก็ตามการลด ความเสียหาย วิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยมใช้คือ การเตรียมตัวและรู้วิธีการรับมือ วิธีปฏิบัติขณะและหลังเกิดแผ่นดินไหวสำหรับประชาชนทั่วไป  และสำหรับในทางวิศวกรรม การทำโครงสร้างอาคารบ้านเรื่อนในมีความแข็งแรงเพียงพอ ถึงแม้ว่าเกิดแผ่นดินไหวก็ไม่วิบัติและส่งผลให้เกิดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สิน ในกรณีของอาคารที่จะสร้างใหม่ อาจมีการคำนวณความแข็งแรงเพื่อพร้อมรับแผ่นดินไหว ได้จากกฎหมายและงานวิจัยที่เป็นปัจจุบัน แต่สำหรับอาคารเดิม จะทำให้แข็งแรงขึ้นได้อย่างไร หรือ เท่าใดนั้น จะต้องเริ่มจากการประเมินความแข็งแรงที่มีอยู่เดิมก่อน อีกวิธีการหนึ่งคือการเตรียมพร้อม เตรียมตัว รับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว การประเมินความแข็งแรงอาคาร

สำหรับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการอยู่กับแผ่นดินไหว ได้แก่
1. เพื่ออบรมการเตรียมตัวรับมือก่อนเกิดแผ่นดินไหว และการปฏิบัติตัวหลังเกิดแผ่นดินไหว
2. เพื่อเผยแพร่วิธีการประเมินอาคารเดิม และเผยแพร่งานวิจัย และหาข้อมูลจริงในพื้นที่เพื่อปรับปรุงการอบรมในปีต่อไป
3. เพื่อสร้างเครือข่าย สร้างบุคลากร ที่เข้าใจและ/หรือ สามารถประเมินความแข็งแรงของอาคารได้

โดยมีกลุ่มเป้าหมาย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 ครู, นักเรียน, ชาวบ้าน, ผู้นำชุมชน, อปพร, ผู้ที่มีหน้าที่ในการอำนวยการใช้อาคาร และผู้สนใจ
โดยกิจกรรมนี้จะเป็นการอบรม ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับแผ่นดินไหว คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร เตรียมตัวอย่างไรก่อนเกิดแผ่นดินไหว ขณะเกิดแผ่นดินไหว และหลังจากเกิดแผ่นดินไหว เป็นความรู้เบื้องต้นสำหรับเอาตัวรอดและดูแลผู้ใกล้ชิด เพื่อให้สามารถมีทักษะพร้อมทั้งลดการสูญเสีย หากเกิดแผ่นดินไหว การจัดการรับมือภัยพิบัติในระดับครอบครัวและชุมชน

กลุ่มที่ 2 ช่าง, นายช่าง, วิศวกร ในหน่วยงานราชการ, ช่างในพื้นที่, ครูช่าง, นักการ, นักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับก่อสร้างอาคาร, ปราชญ์ในพื้นที่, ผู้ที่มีหน้าที่ในการอำนวยการใช้อาคาร
โดยกิจกรรมจะเป็นการอบรมและฝึกอบรม ในหลักการก่อสร้าง รายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมโครงสร้างอาคารและส่งประกอบเพื่อให้มีความแข็งแรงทนต่อแรงแผ่นดินไหว และลดผลกระทบของอาคารต่อผู้ใช้อาคาร ขณะเกิดแผ่นดินไหว เพื่อให้มีความปลอดภัยในการใช้อาคาร และอาจไปถึงการอบรมการเสริมกำลังให้แก่อาคารเดิมเพื่อรองรับแรงแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

กลุ่มที่ 3 วิศวกร, นิสิต นักศึกษา สาขาวิศวกรรมโยธาและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง 
โดยกิจกรรมเป็น ความรู้พื้นฐานของแผ่นดินไหวในงานวิศวกรรมโยธา การวิเคราะห์โครงสร้างอาคาร ประเมินความแข็งแรงของอาคารทั้งโดยวิธีตามมาตรฐานญี่ปุ่น อเมริกัน และไทย รวมทั้งหลักในการจัดการภัยพิบัติ แนวนโยบาย หรือแนวคิดทางวิศวกรรมโครงสร้างหรือศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งขนาดของแรงกระทำจากแผ่นดินไหว การกำหนดพื้นที่ ตามกฎหมายของไทย
                   ดังนั้น หากมีการจัดโครงการบริการวิชาการในเรื่องนี้ จะทำให้ มีการเตรียมพร้อม รู้วิธีการเอาตัวรอดจากแผ่นดินไหว ตามที่ได้สรุปจากพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อย ได้สรุปเป็นแนวทางปฏิบัติไว้ สำหรับในทางวิศวกรรม การประเมินอาคารในพื้นที่เสี่ยง ทำได้อย่างรวดเร็วขึ้น และจะส่งผลให้มีความปลอดภัยกับผู้คนในบริเวณพื้นที่เสี่ยง จากการที่อาคารที่ได้รับการประเมินและเสริมความแข็งแรงได้อย่างทั่วถึง ลดความสูญเสียชีิวิตและทรัพย์สิน ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและโอกาส และยังทำให้ชุมชุมเกิดการเตรียมพร้อมหากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงก็สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว  เป็นผลดีต่อคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชุม ครับ

                   เริ่มกันที่ประชาชนทั่วไปก่อนเลยแล้วกันนะครับ ณ ความรู้เรื่องแผ่นดินไหวในปัจจุบัน (พ.ศ.2563) เป็นที่ทราบกันแน่ชัดว่า   อ.แม่แจ่ม  อยู่ในพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวได้ นะครับ โดยเกิดจากรอยเลื่อนขนาดกลาง ถึงขนาดเล็ก ที่อยู่โดยรอบ อีกทั้งอาจได้รับแรงสั่นสะเทือนจากรอยเลื่อนขนาดใหญ่จากประเทศพม่าก็ได้นะครับ      อย่างไรก็ตามยังไม่ต้องตกใจไปว่า อ.แม่แจ่ม จะเกิดแผ่นดินไหว อย่างรุนแรงเหมือนในประเทศญี่ปุ่น จีน เนปาล นิวซีแลนด์ หรือประเทศที่อยู่ในรอยเลื่อนหลักของเปลือกโลกนะครับ    ของ อ.แม่แจ่ม น่าจะเกิดได้แค่แผ่นดินไหวขนาดกลาง ๆ เท่านั้นครับ
ทีนี้แผ่นดินไหวขนาดกลาง ๆ มันรุนแรงแค่ไหน ?   ในทุกคนลองนึกถึงแผ่นดินไหวที่ อ.พาน (พ.ศ.2557) หรือไม่ก็ แผ่นดินไหวที่ลำปาง เมื่อปีที่แล้ว (ก.พ. 2561)  หรือไม่ก็ผลจากแผ่นดินไหวที่ลาว แล้วเขตจังหวัดน่านรู้สึก เมื่อปลายปีที่แล้ว (22 พ.ย.2562) จะเห็นได้ว่าแผ่นดินไหวขนาดกลางนี้สร้างความเสียหายได้กับอาคาร  แต่ไม่ใช่แผ่นดินไหวรุนแรงความเสียหายแบบทั้งเมืองเหมือนเนปาลนะครับ
                   
                 ดูจากความเสียหายที่เกิดขึ้น ของ อ.พาน จะเห็นว่ามีเสาอาคารแตกร้าว วิบัติ  ผนังแตก ผนังล้ม กระจก ก้อนอิฐร่วงหล่น    เมื่อเห็นความเสียหายก็เป็นบทเรียนจาก อ.พาน ที่พวกเราต้องมาปรับใช้ เพื่อเตรียมตัวกันครับ   ทั้งนี้ผมขอให้ข้อมูลเล็กน้อยว่า  อ.แม่แจ่ม นี้  มีความความแรงแผ่นดินไหวมากกว่า อ.พาน นิดหน่อยนะครับ มากกว่าประมาณ 7%  (คือนิดหน่อยนะครับ ถ้าแรงที่พานเป็น 100 กิโลกรัม  ที่ อ.แม่แจ่ม ก็ประมาณ 107 กิโลกรัม ประมาณแบบนั้นครับ) ดังนั้นในส่วนของประชาชน ผู้นำชุมชน ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย ควรปฏิบัติตัวตามลำดับดังนี้ครับ คือ
1. ก่อนเกิดแผ่นดินไหว
ต้องเตรียมตัวรับมือครับ  ว่าแต่เตรียมอย่างไร ง่าย  ๆ เลยคือ การตรวจสอบข้าวของ เช่น กระถางต้นไม้ กระถางธูป พระบนหิ้ง โคมไฟ ตู้ กรอบรูป เครื่องปรับอากาศ ชั้นหนังสือ หรือ ของที่แขวนไว้ ว่ามันถูกยึดแน่ จะร่วงหล่นหรือไม่หากมีการสั่นจากแผ่นดินไหว อาจมีการยึดตู้ในแน่นกับผนัง ตรวจสอบที่นอน ว่าขณะที่นอนหลับหากเกิดแรงสั่นจะมีอะไรร่วงมาโดนหรือทับตัวเราไหม?  และปกติเมื่อมีแผ่นดินไหวจะมีการแตกของกระจก อิฐเราอาจได้รับบาทเจ็บเล็ก ๆ น้อย  เรามียาสามัญประจำบ้านหรือยัง ? สำหรับของที่แนะนำให้มีไว้นอกจากยาสามัญฯ แล้วก็ควรเตรียมอาหารแห้งไว้บ้างอย่างน้อย ๆ ก็ให้เพียงพอสัก 2-3 วัน ไฟฉาย หรืออุปกรณ์ดำรงชีพ  อาจมีการเตรียมเอกสารสำคัญอย่างเช่นบัตรประชาชนไว้ด้วย

ในส่วนของชุมชนอาจมีการซ้อมและเตรียมสำหรับการหลบภัย เตรียมอุปกรณ์ส่วนร่วมสำหรับกู้ภัย เช่น ชะแลง เลื่อย ถังดับเพลิง แม่แรง เชือก พลั่ว บันได

อีกเรื่องหนึ่งที่มากกว่าที่ประชาชนจะทำเองได้คือการเตรียมบ้านเรือนให้แข็งแรง อันนี้ขอพูดรวมกับการเตรียมตัวของช่าง เลยนะครับ

2. ขณะเกิดแผ่นดินไหว  (แผ่นดินไหวเกิดไม่นานครับ เป็นแค่ 1-5 นาที)
ขณะที่รับรู้แรงสั่นสะเทือน หากอยู่ในที่โล่ง ก็คงไม่มีอะไรน่าห่วง แต่หากอยู่ในรัศมีของอาคารที่จะมีสิ่งแตกหักร่วงใส่ได้ ก็ควรหลบไปให้ห่างและควรมีการป้องกันศรีษะตนเอง เช่น มีหมวกแข็ง หรือตอนนั้นมีกระเป๋านักเรียนก็กระเป๋าป้องกันศรีษะไปก่อน   หากอยู่ในอาคารแต่ใกล้ทางออกมาก ๆ (แบบออกมาได้ในไม่กี่วินาที) ก็ออกมาได้เลยครับ   แต่ถ้าไม่ใกล้ทางออกคงต้องหาที่กำบังจากเศษปรักหักพักจะมาร่วงโดนเราได้นะครับ อาจมุดใต้โต๊ะและจับยึดขาโต๊ะไม่ให้โต๊ะเลื่อน    ทั้งนี้หลบใต้โต๊ะไม่ใช่ว่าโต๊ะจะป้องกันอาคารถล่มมาทับนะครับ   แต่ให้ป้องกันเศษอิฐเศษกระจกร่วงมาโดนเท่านั้นครับ
จากนั้นเมื่อดูแล้วเหตุการณ์สั่นไหวสงบลง ให้สมาชิกบางส่วนตรวจสอบปิดแก๊ส ปิดไฟฟ้า ตรวจสอบว่ามีไฟไหม้ และดับไฟ สมาชิกบางส่วนช่วยเหลือนำคนแก่คนเจ็บออกมานอกอาคาร ส่วนผู้ที่ตรวจสอบอะไรไม่ได้ก็ให้ออกจากอาคารไว้ก่อนเลยครับ
ออกมาจากบ้านเรือนแล้วจะไปอยุู่ที่ไหน  อันนี้ชุมชุมก็มีการซักซ้อม และเตรียมการนะครับว่า ที่รวมพลและที่พักชั่วคราว (ศูนย์อบยพ) ควรอยู่ที่ไหน ? 

3. หลังจากเกิดแผ่นดินไหว (อาจมี aftershock หรือ แผ่นดินไหวอีกหลายรอบตามมาครับ)
ควรให้วิศวกร หรือช่างที่มีความเชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบประเมินว่าบ้านของเราเข้าอยู่อาศัยได้หรือไม่  หากเข้าอยู่อาศัยได้ก็โชดดีครับ     หากเข้าพักอาศัยไม่ได้แต่ไม่ได้จะพังถล่มก็ให้เข้าไปเอาข้าวของสำคัญออกมาได้     หากเป็นอาคารที่พอจะพังถล่มทุกเมื่ออันนี้ไม่ต้องเข้าไปเลยครับ เพราะระหว่างเข้าไปเก็บของอาจเกิดโศกนาศกรรมจากแผ่นดินไหวที่เกิดตามหลังมา (aftershock) ได้ครับ
หลังจากเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ ในประเทศไทยเองมักจะมีการช่วยเหลือจากชุมชุนอื่น หรือรัฐบาล อย่างไรก็ตามคงจะไม่ได้หาซื้อข้าวของได้เหมือนชีวิตปกติ ดังนั้นควรอุปโภคบริโภคเท่าที่จำเป็น เผื่อแผ่และเอื้อเฟื้อต่อคนอื่น ๆ  ทั้งนี้หากมีฝนตกร่วมด้วยหรือดินอุ้มน้ำมาก ๆ ให้ระวังดินถล่มตามแนวตีนเขา หรือ ที่ชันด้วย อาจมีความเสียหายในส่วนของดินถล่มได้ง่ายขึ้นอีกด้วยครับ


สำหรับประชาชนทั่วไปก็มีการปฏิบัติตัวตามที่กล่าวมาครับ

สำหรับช่าง เรามีหน้าที่สำคัญที่จะทำให้บ้านเรือนแข็งแรง   จริง ๆ แล้วถ้าบ้านเราแข็งแรงมาก ๆ เราอาจไม่ต้องไปสนใจแรงแผ่นดินไหวเลยก็ได้นะครับ   จะไหวก็ไหวไป  บ้านเราแข็งแรงเสียอย่าง  ไม่พังไม่เป็นอะไร  แต่ ๆ การทำอาคาร บ้านเรือนให้แข็งแรงขนาดนั้นอาจใช้งบประมาณสูงมาก แต่ไม่ต้องกังวลครับ เราไม่ต้องทำขนาดนั้นก็ได้ แต่ทำให้อาคารมีเหนียว ๆ หน่อยครับ เวลามีแรงแผ่นดินไหวมาก็โยกได้แต่ไม่พังถล่มครับ

ทั้งนี้ช่าง ๆ อย่างเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ประชาชนสบายใจ  ผมขอเป็นไปบรรยายกันแบบเห็นหน้าจะดีกว่าครับ  มันมีรายละเอียดที่ต้องเห็นด้วยตา จะเข้าใจมากกว่า แล้วพบกันครับ